Font Fiction

Font
Fiction

al  cat  de  dk  en  es  fi  fr  gre  gsw  id  it  jp  pt  se  tr  th  
1.
ว่ากันว่าแมวยังมีถึงเก้าชีวิต
หากจะบอกว่าฟอนต์เป็นอมตะนั้น ก็คงไม่แปลก
2.
ความแตกต่างระหว่างฟอนต์และวัฒนธรรมแขนงอื่น อย่างดนตรี ศิลปะ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม หรือแฟชั่น ปรากฏอยู่ในรูปของความจริงว่าฟอนต์นั้นเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาสังคม ไม่สำคัญว่าแบบตัวอักษรจะถูกออกแบบมานานนับกี่ศตวรรษ แต่อย่างไรก็มีโอกาสที่จะมีชีวิตใหม่ได้เสมอ แม้จะอยู่ภายใต้สังคมที่มีความต่างจากร้อยปีก่อนอย่างสิ้นเชิง ลองดูตัวอย่างจากภาพวาดของลีโอนาร์โด ดา วินชีอันโด่งดังอย่างโมนาลิซานั้น เป็นภาพวาดที่เกิดขึ้นในยุคเดียวกันกับฟอนต์ของฟรานเซสโก กริฟโฟที่ชื่อเบมโบ ปรากฏว่าฟอนต์เบมโบมีบทบาทที่แตกต่างและมีความสำคัญภายใต้สังคมในปัจจุบันมากกว่าภาพโมนาลิซาอย่างปฏิเสธไม่ได้ แบบตัวอักษรนี้ได้กลายเป็นความทันสมัยอีกครั้งด้วยการชุบชีวิตจากเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในฐานะ OpenType Variable Font ในขณะที่ภาพโมนาลิซานั้นถูกกำหนดให้เกิดมาเพื่อตายจากไปอย่างช้าๆ โดยมีชีวิตอยู่ได้เพียงแต่แขวนไว้ให้คนดูในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์เท่านั้น
3.
ในขณะที่ทุกสิ่งอย่างนั้นเกิดขึ้นแล้วดับไป ฟอนต์กลับมีความสามารถที่ไม่ใช่แค่เพียงอยู่ยั้งยืนยง แต่เติบโตได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา พัฒนาไปได้ตลอดกาล แม้แต่ในช่วงเวลาที่ผู้ออกแบบจะไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ตาม
4.
งานสร้างสรรค์นั้นมักจะประกอบด้วย 3 มิติ มิติแรกคืองานที่เรากำลังลงมือทำและออกแบบ มิติที่สองคือมิติที่เราต้องการไปให้ถึงแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึง และมิติที่สามคือมิติที่พวกเรายังไม่ทันได้ตระหนักถึงว่ามีอยู่
5.
เพราะฟอนต์นั้นเป็นอมตะ การออกแบบฟอนต์ย่อมต้องเผชิญสามมิติดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าคุณกำลังติดอยู่ในมิติแรก แต่สองมิติที่เหลือนั้นก็ไล่หลังตามมาติดๆ
6.
Font Fiction คือวิธีจัดการกับสามมิติดังกล่าว โดยการนิยามหลักการให้กับพื้นที่ที่พวกเราต่างรู้แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ (มิติที่สอง) และขอบเขตที่เรายังไม่สามารถตระหนักรู้ได้ (มิติที่สาม) การจะเข้าสู่วิธีจัดการนี้ ฟรานเซสโก กริฟโฟอาจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการเปลี่ยนงานออกแบบตัวอักษรของเขาให้เป็น Variable Font แสดงผลด้วยน้ำหนักที่หลากหลายได้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นคนสร้างเทคโนโลยีนี้ด้วยตัวเอง เพราะมันไม่ได้มีตัวตนอยู่เมื่อห้าร้อยปีก่อน จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะจินตนาการถึงสิ่งต่างๆ ได้อย่างฮินท์ติ้ง (การกำหนดค่าเพื่อให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลแบบตัวอักษรบนหน้าจอให้ใกล้เคียงกับแบบที่จริงของตัวอักษรมากที่สุด) หรือการรู้ว่าอักขระ euro sign (€) จะมีอยู่จริงก็ตาม หากสิ่งนั้นเกิดขึ้นนอกขอบเขตเหนือจินตนาการของเราจะไปถึง เพราะฉะนั้นในวันนี้เราจึงระบุได้เพียงหลักการทั่วไป อย่างเช่นเรื่องของหลักการเกี่ยวกับรูปทรงและความละเอียดเท่านั้น
7.
Font Fiction เป็นเรื่องของการแสดงให้เห็นถึงหน้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตกทอดมาในระหว่างการออกแบบของนักออกแบบฟอนต์ ความรับผิดชอบนี้ทำได้ด้วยการขยายความเข้าใจแบบเดิมของการออกแบบตัวอักษรให้ครอบคลุมทั้งสามมิติที่มีตัวตนอยู่ภายในการมีอยู่ของฟอนต์ นั่นรวมถึงมิติที่ไม่สามารถเอื้อมถึงได้หรือจินตนาการถึงได้ด้วย
8.
Font Fiction จึงไม่ได้เป็นเรื่องของการทำตัวต้นแบบที่บ่งบอกว่าอนาคตฟอนต์จะเป็นอย่างไร แต่เป็นเรื่องของการรวบรวมทุกมิติเข้าสู่กระบวนการสร้างสรรค์ร่วมสมัย Font Fiction ไม่ได้เป็นการนำเสนอมุมมองใหม่ของวันพรุ่งนี้แต่เป็นความรับผิดชอบในปัจจุบันสำหรับอนาคต ในฐานะที่ฟอนต์จะเติบโตอย่างเป็นอมตะสู่มิติที่เราอาจยังไม่รู้ในวันนี้ นักออกแบบตัวอักษรจึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปสำหรับแบบตัวอักษร เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคตที่กำลังเดินทางมาถึง
Font Fiction (Basic Principles version 1) was written and published by Underware on the occasion of their lecture Export Future on Saturday 14 April 2018 at the TYPO Labs conference in Berlin, Germany.

Thai translation by Kamolkarn Kosolkarn.


Underware
Groenewegje 137
2515 LR Den Haag
The Netherlands
www.underware.nl
info@underware.nl